วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มาชูปิกชู


มาชู ปิกชู (Machu Picchu)

          มาชูปิกชู หรือนิยมเรียกอีกชื่อว่า เมืองสาบสูญแห่งอินคา  กล่าวกันว่าชื่อ  มาชูปิกชู  นี้ถูกตั้งให้กับโบราณสถานแห่งนี้โดยความเข้าใจผิด เมื่อ ไฮรัม บิงแฮม (ผู้ค้นพบ มาชู ปิกชู) ถามชนพื้นเมืองถึงชื่อของมัน ชนพื้นเมืองเข้าใจผิดว่าเขาถามถึงชื่อของภูเขาจึงตอบว่า "มาชูปิกชู" (แปลว่า"ยอดเขาผู้ชรา") ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อของโบราณสถานดังกล่าวมาจนทุกวันนี้

                              
 
          นครกลางฟ้าแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาแอนเดส ประเทศเปรู กินเนื้อที่ประมาณ13 ตารางกิโลเมตรของหุบเขาอุรุบัมบ้า ที่ความสูง 6,750 ฟีตจากระดับน้ำทะเล เมื่อมองจากตีนเขาจะไม่สามารถมองเห็นมาชูปิกชูได้ และนี่ก็คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาชูปิกชูไม่ถูกค้นพบเป็นเวลานานและยังคงสภาพอันสมบูรณ์เอาไว้ได้

          โบราณสถานถูกสร้างเป็นลักษณะขั้นบันไดไล่ลงมาตามความชันของหุบเขา แต่ละชั้นสูง 3 เมตร มีจำนวนทั้งหมด 40 ชั้นซึ่งถูกเชื่อมถึงกันด้วยบันไดกว่า 3,000 ขั้น และมีสิ่งก่อสร้างซึ่งสร้างด้วยหินกว่า 200 หลัง

                    
 
           24 กรกฎาคม 1911 ไฮรัม บิงแฮม ที่สาม ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล (และเป็นต้นแบบของ"อินเดียน่าโจนส์") ได้ค้นพบโบราณสถานดังกล่าวระหว่างการค้นหาโบราณสถานของอินคาในละแวกใกล้เคียง จนถึงปี 1915 บิงแฮมได้ทำการตรวจสอบมาชูปิกชู 3 ครั้งและเขียนผลการวิจัยหลายฉบับออกมา ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ  "The Lost City of the Incas"  ซึ่งกลายมาเป็นเบสต์เซลเลอร์ และได้รับการแนะนำในนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค ในหนังสือของปี 1930 บิงแฮมได้นำเสนอสมมติฐานว่ามาชูปิกชูเคยถูกปกครองโดยนักบวชของลัทธิบูชาสุริยะและมีการทำพิธีถวายหญิงสาวเป็นเครื่องสังเวยแก่พระเจ้าของพวกเขา ทั้งที่นี่ยังเป็นป้อมปราการสุดท้ายของชาวอินคาที่ต่อสู้กับชาวสเปนอีกด้วยซึ่งสมมติฐานนี้ได้กลายมาเป็นอิมเมจของมาชูปิกชูอยู่เป็นเวลานานทีเดียว

          หลังจากที่บิงแฮมเกษียณจากมหาวิทยาลัย เขาได้ไต่เต้าขึ้นไปเป็นรองผู้ว่ารัฐคอนติเนคัท ผู้ว่าฯ และกลายเป็นวุฒิสมาชิกของสภาในที่สุด บิงแฮมส่งเสริมการค้นคว้าเกี่ยวกับมาชูปิกชูไว้มากมายซึ่งมีผลไปถึง 40 ปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตทีเดียว และส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการค้นคว้ามาชูปิกชูในปัจจุบันก็มาจากแรงบันดาลใจจากงานเขียนของเขาเช่นกัน (ในปัจจุบัน มีการอ้างว่ามีชาวเปรูชื่อแอกสติน ลีซาลาก้าได้ค้นพบมาชูปิกชูก่อนบิงแฮมถึง 9 ปี ปัจจุบัน ข้อเท็จจริงเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน แต่เนื่องจากมีพยานยืนยันหลายคน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นความจริง)

          จะอย่างไรก็ดี สมมติฐานที่บิงแฮมทิ้งไว้ในฐานะผู้ค้นพบก็ทำให้การวิจัยในยุคหลังเป็นไปอย่างลำบากไม่น้อย ริชาร์ดL. เบอร์เกอร์และลูซี่ C. ซาลาซ่าร์จากมหาวิทยาลัยเยลได้ยืนยันว่า มาชูปิชูไม่น่าจะเป็นป้อมปราการของอินคาดังที่เข้าใจกัน เนื่องจากในบันทึกที่หลงเหลืออยู่ของสเปนกล่าวไว้ว่า" ปี 1572 ชาวอินคากลุ่มสุดท้ายขัดขืนเพียงเล็กน้อยก่อนจะยอมจำนนที่ที่ซ่อนกลางป่าดงดิบในที่ราบ" ในขณะที่มาชูปิกชูเป็นที่ราบสูง

                         
 
          มีการตั้งสมมติฐานว่ามาชูปิกชูน่าจะเป็นที่อาศัยของนักบวชเพื่อใช้ในการสังเกตุการโคจรของดวงอาทิตย์มากกว่า เนื่องจากมีหน้าต่างซึ่งดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ตรงกลางพอดีในวันสิ้นสุดฤดูร้อนและวันสิ้นสุดฤดูหนาว ส่วนแท่นบูชายัญที่บิงแฮมกล่าวไว้ น่าจะมีไว้เพื่อเป็นหอสังเกตุวงโคจรของดวงอาทิตย์เช่นกัน


          โบราณวัตถุที่บิงแฮมนำมาจากมาชูปิกชูถูกห่อไว้ด้วยหนังสือพิมพ์ของช่วงปี 1920 และเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บเอกสารของมหาวิทยาลัยเยลเป็นเวลานาน การตรวจสอบพบว่าของส่วนใหญ่ถูกทำขึ้นในศตวรรษที่ 15 ส่วนของที่ถูกฝังในหลุมศพนั้นมีลักษณะเรียบง่าย จึงน่าจะเป็นของผู้รับใช้มากกว่าเชื้อพระวงศ์

          ซากศพที่พบในมาชูปิกชูมีจำนวนของชายหญิงพอๆกัน น่าจะมีการอาศัยเป็นครอบครัวซึ่งมีเด็กอยู่ด้วย ศพส่วนใหญ่พบร่องรอยของวัณโรคและโรคพยาธิ ฟันมีรอยผุเนื่องจากการทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก แต่ศพส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุและไม่พบร่องรอยการตายที่น่าจะเกิดจากสงครามนัก สันนิษฐานได้ว่าศพของเชื้อพระวงศ์น่าจะถูกนำไปทำพิธีที่คุสโก้จึงไม่พบอยู่ที่นี่

          มีบางศพที่เห็นได้ชัดว่ามาจากแถบอารยธรรมอื่นเช่นจากบริเวณทะเลสาปติติกากา คาดว่าน่าจะเป็นศพของช่างฝีมือที่ถูกเรียกมาเพื่อการก่อกำแพงหินซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างปราณีต กำแพงเหล่านี้สร้างขึ้นจากหินที่ถูกตัดไว้อย่างลวกๆแล้วใช้เครื่องมือที่ทำจากหินเช่นกันค่อยๆเซาะตบแต่งให้เรียบร้อยอีกที ในภายหลังมีการค้นพบเส้นทางการลำเลียงหินและแหล่งที่มาของหินเหล่านี้ซึ่งมีการพบเครื่องมือตัดหินที่ทำจากหินซึ่งมีความแข็งเป็นพิเศษอยู่ด้วย

          เมื่อเร็วๆนี้ มีการพบรอยไหม้ในชั้นใต้ดินของสิ่งก่อสร้าง จึงมีการคาดเดาว่าน่าจะเกิดจากชาวเมืองซึ่งเกรงว่าสเปนจะบุกมาจึงได้เผามาชูปิกชูเสียก็เป็นได้

                         
 
          มีสมมติฐานกล่าวว่า มาชูปิกชูอาจจะไม่ได้เป็นเมืองเลยก็ได้ ที่นี่น่าจะเป็นที่พักตากอากาศสำหรับเชื้อพระวงศ์ในหน้าแล้ง มาชูปิกชูประกอบด้วยราชวังซึ่งมีวิหารและคฤหาสน์ล้อมอยู่รอบๆซึ่งรวมไปถึงที่พักของผู้ทำงานในสถานที่นั้นๆด้วย คาดว่าในหน้าฝนหรือช่วงที่ไม่มีเชื้อพระวงศ์มาพัก ที่นี่น่าจะมีผู้อาศัยอยู่ไม่เกิน 750 คน เมืองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าพาชาคูตี้ในช่วงปี 1440 และน่าจะมีผู้อาศัยอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งถูกชาวสเปนมายึดดินแดนในอีก 80 ปีให้หลัง

          อีกสมมติฐานกล่าวว่า มาชูปิกชูน่าจะเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนา เห็นได้จากตำแหน่งของเมืองที่เหมาะกับการสังเกตุวงโคจรดวงอาทิตย์ และหน้าต่างดวงอาทิตย์ซึ่งกล่าวไว้ในข้างต้น

          นอกจากนี้ ชาวอินคามักจะยกพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นของคู่กัน ซึ่งมีการพบสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และพระจันทร์ในโบราณสถานอื่นๆเป็นจำนวนมาก และสำหรับมาชูปิชูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์นี้ ก็มีถ้ำในไวนาปิกชู (แปลว่า"ยอดเขาผู้เยาว์วัย") ที่อยู่เบื้องหลังมาชูปิกชูอีกที ซึ่งถูกสร้างไว้เป็นวิหารของดวงจันทร์

          ปี 1983 มาชูปิกชูได้รับการประกาศจากยูเนสโก้ให้เป็นมรดกโลก พร้อมกับคุสโก้ และกลายมาเป็นสถานท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดของเปรู ในปีหนึ่งๆ มีนักท่องเที่ยวกว่าห้าแสนคนเดินทางไปชมนครลอยฟ้า และเช่นเดียวกับมรดกโลกอื่นๆอีกหลายแห่ง มาชูปิกชูประสบกับปัญหาความทรุดโทรมอันเกิดจากฝีมือมนุษย์จนในที่สุด รัฐบาลเปรูได้ประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปยังมาชูปิกชูเหลือเพียง 500 คนต่อวัน และทุกปีจะต้องมีการปิดมาชูปิกชูเป็นเวลา เดือนเพื่อทำการฟื้นฟูมรดกโลกแห่งนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น